Last updated: 19 ก.ค. 2565 | 7703 จำนวนผู้เข้าชม |
Q :โรคสะบ้าเคลื่อนคืออะไร
A :กระดูกสะบ้า (Patella) เป็นกระดูกรูปไข่ฝังอยู่ในเอ็นของกล้ามเนื้อขาหลัง (Patellar Ligament) ซึ่งจะไปยึดเกาะที่ส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง ปกติกระดูกสะบ้านี้อยู่บนร่องของกระดูกต้นขาหลัง ร่องนี้จะเว้าเพื่อรองรับและกักสะบ้าเอาไว้ โดยสะบ้าจะเคลื่อนขึ้น-ลงอยู่บนร่องเมื่อสุนัขยืดและหดขา สำหรับสุนัขที่เป็นโรคสะบ้าเคลื่อน กระดูกสะบ้าจะเคลื่อนออกไปทางด้านใน หรือด้านข้างของร่องกระดูกต้นขาหลัง โดยการเคลื่อนออกนั้นขึ้นกับความรุนแรง
Q :โรคสะบ้าเคลื่อนเกิดจากอะไร
A :โรคสะบ้าเคลื่อนมักพบในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น Pomeranians, Miniature และ Toy Poodles, Yorkshire Terriers, Pekingese, Chihuahuas และ Boston Terriers มักพบการเคลื่อนเข้าด้านใน (Medial) มากกว่าเคลื่อนออกด้านข้าง (Lateral) การเคลื่อนของสะบ้า (Patella) ในสุนัขส่วนใหญ่เป็นมาแต่กำเนิดโดยการถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมหรือเกิดขึ้นจากการกระทบกระแทก สุนัขที่เดินพื้นลื่น มีการกระโดดบ่อยๆ จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเร็วขึ้น
Q :โรคสะบ้าเคลื่อนจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และจะสังเกตได้อย่างไร
A :ปกติจะพบในสุนัขอายุน้อยประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งในช่วงอายุดังกล่าวสุนัขจะมีการพัฒนาของโรคเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในสุนัขที่มีสะบ้าเคลื่อนกล้ามเนื้อของต้นขาด้านหลังจะถูกดึงไปทางด้านในหรือด้านข้าง ทำให้เกิดแรงกดที่ผิดปกติบริเวณกระดูกอ่อนของข้อเข่า ทำให้เกิดความผิดปกติของโครงสร้างของขา เกิดลักษณะขาโก่งขึ้น จนบางครั้งสุนัขไม่สามารถใช้ขารับน้ำหนักได้ สำหรับสุนัขที่เป็นโรคสะบ้าเคลื่อนระดับที่ไม่รุนแรง อาจสังเกตไม่พบความผิดปกติจนกระทั่งสุนัขมีอายุมากขึ้น เมื่อสะบ้าเคลื่อนออกนอกร่องสุนัขอาจแสดงอาการเจ็บขาและไม่ใช้ขารับน้ำหนักขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรค ในกรณีที่ไม่รุนแรงมากนักสะบ้าอาจเคลื่อนออกบางครั้ง ทำให้สุนัขยกขาในบางจังหวะของการเดินและจะกลับมาเดินได้ปกติเมื่อสะบ้าเข้ามาอยู่ในตำแหน่งปกติ ในกรณีที่เป็นรุนแรงสะบ้าจะเคลื่อนออกบ่อยหรือไปคาอยู่นอกร่อง ความรุนแรงของโรคสะบ้าเคลื่อนแบ่งได้เป็น 4 ระดับ คือ
ระดับที่ 1 สะบ้าเคลื่อนออกไม่บ่อย สุนัขอาจยกขาจังหวะที่สะบ้าเคลื่อนออก สุนัขมักไม่แสดงอาการเจ็บ
ระดับที่ 2 การเคลื่อนของสะบ้ามักเกิดขึ้นได้บ่อย สัตว์จะอาจแสดงอาการเจ็บขาและเดินผิดปกติ สุนัขที่มีสะบ้าเคลื่อนในระดับนี้เป็นเวลานาน อาจพบการกร่อนของผิวด้านในของสะบ้าและผิวสัมผัสของสันกระดูกที่สะบ้ามีการเสียดสี
ระดับที่ 3 สะบ้ามักเคลื่อนหลุดตลอดเวลา ร่วมกับมีการบิดของกระดูกหน้าแข้งที่เป็นจุดยึดเกาะของเอ็นของกระดูกสะบ้า มักพบว่าสุนัขไม่สามารถเหยียดขาได้เต็มที่ อาจพบการผิดรูปร่างของกระดูกขาหลังในสุนัขที่อายุน้อยกว่า 1 ปี สุนัขจะแสดงอาการเจ็บขา
ระดับที่ 4 เกิดการเคลื่อนของสะบ้าอย่างถาวร โดยที่ไม่สามารถดันกลับได้ มีการบิดและการเจริญผิดรูปของกระดูกขาหลัง ร่องที่รองรับสะบ้าตื้นหรือหายไป สุนัขมักเจ็บขาตลอดเวลาไม่สามารถเหยียดข้อเข่าได้ สุนัขที่มีสะบ้าเคลื่อนเกิดขึ้น บางครั้งเจ้าของอาจไม่ทันสังเกตเห็นความผิดปกติ เนื่องจากสุนัขยังคงเดินได้เป็นปกติในกรณีที่มีการเคลื่อนเกิดขึ้นในระดับน้อยๆ ร่วมกับน้ำหนักตัวของสุนัขไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตามเจ้าของควรจะสังเกตการเดินและอาการของสุนัขไว้ เนื่องจากปัญหาที่เกิดตามมาคือการเกิดโรคข้อเสื่อม หรือมีการฉีกขาดของเอ็นบริเวณหัวเข่า โดยเฉพาะในสุนัขที่น้ำหนักมากๆ
Q :จะทราบได้อย่างไรว่าสุนัขเป็นโรคสะบ้าเคลื่อน
A :บางทีการสังเกตอาการสุนัขที่เป็นสะบ้าเคลื่อนอาจทำได้ยาก เนื่องจากสุนัขอาจยังสามารถเดินได้เป็นปกติและไม่แสดงอาการเจ็บ จะมีเพียงบางจังหวะที่เดินขาโก่งหรือยกขา จึงต้องพาไปให้สัตวแพทย์ทำการตรวจคลำ อาจต้องทำการถ่าย x-ray เพื่อดูปัญหาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การตรวจดูข้อสะโพกหรือการเกิดโรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) เพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษาต่อไป สำหรับอายุที่ควรจะพาไปตรวจ อาจเริ่มที่ 3 เดือน และทำการตรวจซ้ำที่ 6 เดือน และ 1 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่กระดูกมีการเจริญ ทำให้การพัฒนาของโรคเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
Q :การเลี้ยงดูมีผลหรือไม่
A :การเลี้ยงดูอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักของการเกิดโรค แต่ในรายที่พบว่ามีการเคลื่อนของสะบ้าเกิดขึ้น การเลี้ยงดูก็เป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในสุนัขที่อาศัยอยู่บนพื้นลื่นๆ มีส่วนทำให้ความรุนแรงของโรคพัฒนาได้เร็วขึ้น สำหรับสุนัขที่พบการเคลื่อนของสะบ้าเกิดขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเกิดข้อเสื่อมร่วมด้วยนั้น ควรจะต้องมีการควบคุมในเรื่องของน้ำหนักตัวเพราะการรับน้ำหนักของข้อเข่าที่ไม่มั่นคงและเกิดการเสื่อมนั้น จะทำให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น และสุนัขมีอาการเจ็บจนไม่อยากใช้ขารับน้ำหนัก จากคอลัมภ์ The Vet is in Story โดย อ.สพ.ญ.ชาลิกา หวังดี ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Q :จะทำอย่างไรเมื่อสุนัขเป็นโรคสะบ้าเคลื่อน
A :ถ้าสุนัขแสดงอาการเจ็บอาจให้ยาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด อาจเกิดจากการเสียดสีของผิวกระดูกสะบ้ากับสันของกระดูกต้นขาหลัง ซึ่งอาจทำให้ผิวกระดูกเกิดการกร่อนและเกิดโรคข้อเสื่อมขึ้น ส่วนการจะทำให้สะบ้ากลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติต้องอาศัยการผ่าตัด วัตถุประสงค์ของการผ่าตัดก็เพื่อทำร่องของกระดูกต้นขาหลังที่รองรับสะบ้าให้ลึกขึ้น ร่วมกับการปรับแนวการทำงานของเอ็นของกระดูกสะบ้าให้กลับมาอยู่ในแนวปกติและทำให้เกิดความมั่นคงของข้อเข่า อย่างไรก็ตามการเกิดข้อเสื่อมยังคงเกิดขึ้นถึงแม้จะทำการผ่าตัดแล้วก็ตาม แต่การเสื่อมนั้นจะเกิดขึ้นช้าและน้อยลง
Q :การดูแลสุนัขหลังผ่าตัดควรทำอย่างไร
A :ควรเริ่มทำกายภาพบำบัด (Passive Physical Therapy) ประมาณ 72 ชั่วโมงหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันข้อแข็งและช่วยให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ โดยข้อเข่าไม่ต้องรับแรงกดจากน้ำหนักตัวและยังช่วยให้น้ำเลี้ยงข้อเกิดขึ้นด้วย จำกัดการออกกำลังกายด้วยการจูงเดินประมาณ 3-4 สัปดาห์ ปัจจุบันมีอาหารเสริมและอาหารต่างๆ มากมายที่มีส่วนผสมของสารจำพวก Glucosamine, Chondroitin Sulphate, Eicosapentaenoic acid (EPA), Omega-3 fatty acid และ L-carnitine ซึ่งสารต่างๆ เหล่านี้มีส่วนช่วยในการเพิ่มของเหลวที่มีความจำเป็นในข้อต่อ ลดการทำงานของเอ็นไซม์ที่ทำให้เกิดการทำลายของกระดูกอ่อน และลดสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้สุนัขกลับมาใช้ขาได้ดีขึ้น
#ยอร์คเชียร์เทอร์เรีย #yorkshireterrier #ยอร์ค #ยอร์คเชียร์ #เทอร์เรีย #ลูกยอร์ค #ลูกยอร์คเชียร์ #ทีคัพ #teacup #tcup #yorkshire #terrier #yorkie #ขายยอร์คเชียร์ #โรงพยาบาลสุนัขใกล้ฉัน
3 ก.ย. 2560
3 ก.ย. 2560
3 ก.ย. 2560
3 ก.ย. 2560